แนะนำโรงเรียน

ชื่อภาษาไทย

โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยรามคำแหง (ฝ่ายประถม)

ชื่อภาษาอังกฤษ

Ramkhamhaeng University Demonstration School (Elementary Level)

ตราโรงเรียน

ตราพ่อขุนรามคำแหงมหาราช

สถานที่ตั้ง

ตั้งอยู่ภายในมหาวิทยาลัยรามคำแหง เลขที่ 282 ถนนรามคำแหง แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ
กรุงเทพมหานคร 10240

สังกัด

มหาวิทยาลัยรามคำแหง
สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

ผู้ก่อตั้ง

ศาสตราจารย์รังสรรค์ แสงสุข (อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง)

ประธานกรรมการบริหารโรงเรียน

รองศาสตราจารย์นพคุณ คุณาชีวะ
(รองอธิการบดีฝ่ายนโยบายและแผนมหาวิทยาลัยรามคำแหง)

ผู้อำนวยการโรงเรียน

นายมานพ สอนศิริ
รองคณบดีฝ่ายโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยรามคำแหง ฝ่ายประถม
(ผู้อำนวยการ)

คติพจน์โรงเรียน

“หลานพ่อขุน ใจการุญ รู้คุณสังคม นิยมกีฬา ปัญญาสร้างสรรค์”

อัตลักษณ์ของโรงเรียน

“สาธิตราม งามน้ำใจ ใฝ่เรียนรู้ คู่ความดี มีวัฒนธรรม ชี้นำสังคม”

เอกลักษณ์ของโรงเรียน

“โรงเรียนจัดกิจกรรมส่งเสริมพัฒนาผู้เรียนให้ กล้าคิด กล้าทำ กล้าแสดงออก และมีวิสัยทัศน์”

สีประจำโรงเรียน

สีชมพู– สีเขียว

สีชมพู หมายถึง ความรักของพ่อแม่และครู

สีเขียว หมายถึง ชีวิตที่เจริญงอกงาม
(เป็นสีที่มาจากการรวมกันระหว่างสีน้ำเงินและสีเหลือง(ทอง) อันเป็นสีประจำของมหาวิทยาลัย)

ต้นไม้ประจำโรงเรียน

“ต้นชมพูพันธุ์ทิพย์” มีความหมายดังนี้

ดอกสีชมพูอ่อน หมายถึง ความรักของพ่อแม่และครู

ออกดอกเป็นช่อกระจุก หมายถึง ความสามัคคี

ลักษณะไม้ยืนต้น หมายถึง ความมั่นคงและแข็งแรง

ดอกสีชมพูอ่อน

ออกดอกเป็นช่อกระจุก

ลักษณะไม้ยืนต้น

หมายถึง ความรักของพ่อแม่และครู

หมายถึง ความสามัคคี

หมายถึง ความมั่นคงและแข็งแรง

ประวัติโรงเรียน

โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยรามคำแหง (ฝ่ายประถม) ได้ก่อตั้งขึ้นโดยอดีตอธิการบดีรังสรรค์ แสงสุข ซึ่งตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นอย่างยิ่ง โดยได้มอบหมายให้รองศาสตราจารย์นพคุณ คุณาชีวะ รองอธิการบดีฝ่ายสวัสดิการสมัยนั้น จัดตั้งโครงการพัฒนาเด็กเล็กขึ้นในระยะแรกเพื่อลดปัญหาผู้ปกครองที่ไม่สามารถนำบุตรหลานไปฝากเรียนในโรงเรียนอนุบาลหรือสถานรับเลี้ยงเด็กในบริเวณใกล้เคียงที่พักได้ และเพื่อเป็นสวัสดิการแก่บุคลากรมหาวิทยาลัยรามคำแหง ในปี 2537 จึงได้เปิดรับนักเรียนในชั้นบริบาล 2 ห้อง ชั้นอนุบาล 1 ห้อง ซึ่งโรงเรียนได้พัฒนาด้านวิชาการและด้านบุคลากรตลอดเวลาจนประสบผลสำเร็จ

ดังนั้น โครงการพัฒนาเด็กเล็กจึงได้เปลี่ยนเป็นโรงเรียนอนุบาลรามคำแหง ในปี 2538 หลังจากนั้นเป็นต้นมา โรงเรียนก็ได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยอย่างเต็มที่มาโดยตลอดและพัฒนาทุกด้านอย่างรวดเร็ว จนถึงระดับชั้นอนุบาล 3 ซึ่งเป็นชั้นสูงสุดของโรงเรียน ผู้ปกครองที่เป็นบุคลากรของมหาวิทยาลัยก็ประสบปัญหาในการหาโรงเรียนให้บุตร จึงได้เรียกร้องให้โรงเรียนเปิดสอนชั้นประถมศึกษาต่อไป โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยรามคำแหง (ฝ่ายประถม) จึงได้จัดตั้งขึ้นโดยได้รับอนุมัติจากสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2540 และเปิดรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ในปีการศึกษา 2541 เป็นต้นมา และได้ขยายชั้นเรียนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ในปีการศึกษา 2546

การดำเนินงานในระยะแรก มหาวิทยาลัยอนุมัติให้ปรับปรุงอาคารเชลียงเป็นอาคารเรียนระดับปฐมวัยและปรับปรุงอาคารสองแควและอาคารตรีบูร เป็นอาคารเรียนระดับประถมศึกษาจนถึงภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2548 โรงเรียนได้ย้ายนักเรียนระดับประถมศึกษาและนักเรียนภาคภาษาอังกฤษไปเรียนที่อาคารเรียนหลังใหม่ เมื่ออาคารเรียนแล้วเสร็จในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2548 โรงเรียนได้ย้ายนักเรียนระดับอนุบาลทั้งหมดที่เรียนอยู่อาคารเรียนหลังเก่าไปเรียนที่อาคารเรียนหลังใหม่

ปีการศึกษา 2544 โรงเรียนได้เปิดสอนภาคภาษาอังกฤษ ชั้นอนุบาล 1 โดยจัดประสบการณ์การเรียนรู้ด้วยเทคนิคบูรณาการ (Integration) แบบ 2 ภาษา (Bilingual) เน้นการสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษเป็นสำคัญและในปีการศึกษา 2547 โรงเรียนได้ขยายชั้นเรียนระดับประถมศึกษาปีที่ 1 เพื่อสร้างการเรียนรู้สู่ระดับสากล เป็นการสร้างเยาวชนรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพแก่สังคมไทยต่อไป

ในด้านวิชาการโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยรามคำแหง (ฝ่ายประถม) จะเป็นต้นแบบของการจัดการเรียนการสอนแบบเตรียมความพร้อม จะเอื้อประโยชน์ให้กับคณาจารย์ ข้าราชการ และนักศึกษาในสาขาวิชาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเด็กให้ใช้เป็นแหล่งค้นคว้า วิจัยและทดลองปฏิบัติการสอนเพื่อพัฒนางานวิชาการให้กว้างขวางออกไป ตลอดจนเปิดโอกาสให้บุคลากรภายนอกที่สนใจงานวิชาการด้านนี้ได้เข้ามาศึกษาดูงานเพื่อนำความรู้ไปใช้ในการพัฒนาเด็กและเยาวชนให้เติบโตเป็นประชากรที่มีคุณภาพของสังคมโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยรามคำแหง (ฝ่ายประถม) ได้ทำหน้าที่ตามเจตนารมณ์ของมหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่ให้บริการทั้งด้านสวัสดิการและวิชาการได้อย่างครบถ้วน นอกจากนี้โรงเรียนได้เริ่มดำเนินโครงการศูนย์การศึกษาสำหรับเด็กพิเศษ ซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2548 เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนที่มีความบกพร่องได้มีโอกาสศึกษาและพัฒนาตนเองร่วมกับผู้อื่นในสังคม ซึ่งเป็นการตอบสนองต่อนโยบายเพื่อการศึกษาของชาติอีกด้วย

วัตถุประสงค์ของการจัดตั้ง

เพื่อจัดสวัสดิการให้แก่บุคลากรของมหาวิทยาลัย เป็นแหล่งปฏิบัติการศึกษา ค้นคว้า ทดลอง วิจัยทางด้านการศึกษาของคณาจารย์และผู้สนใจ เป็นแหล่งฝึกประสบการณ์วิชาชีพของนักศึกษาคณะศึกษาศาสตร์ ให้บริการทางวิชาการแก่สังคม ทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมไทย

แนวคิดหลักของการพัฒนา

โรงเรียนจะเป็นแหล่งการเรียนรู้ที่ทันสมัย และหลากหลายแก่บุคลากรทางการศึกษาทุกด้านแนวคิดที่ใช้ในการบริหารคือเน้นให้นักเรียนเรียนอย่างมีความสุขภายใต้บรรยากาศ และสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้พร้อมที่จะไปศึกษาต่อในระดับสูงขึ้น ส่งเสริมให้นักเรียนได้พัฒนาทักษะ ความสามารถตามความถนัดของแต่ละบุคคล นอกจากนี้ โรงเรียนยังเน้นให้อาจารย์และบุคลากรของโรงเรียนทำงานร่วมกันเป็นทีม มีความตระหนักในบทบาทหน้าที่ของตนเอง และความรับผิดชอบต่อส่วนรวม

ปรัชญา ปณิธาน และวิสัยทัศน์

โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยรามคำแหง (ฝ่ายประถม)

ปรัชญา ปณิธาน และวิสัยทัศน์

ปรัชญา

การศึกษา คือ ทางแห่งปัญญาเพื่อพัฒนาชีวิต

ปณิธาน

โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยรามคำแหง (ฝ่ายประถม) จะมุ่งมั่นพัฒนานักเรียนให้เป็นคนดี มีคุณธรรม เป็นคนเก่ง เป็นคนมีความสุข และเป็นบุคคลใฝ่เรียนรู้ตลอดชีวิต (Life Long Learning)

วิสัยทัศน์

โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยรามคำแหง (ฝ่ายประถม) คือ โรงเรียน Happiness Thinking and Teamwork school (เรียนรู้อย่างมีความสุข ปลุกพลังความคิด พิชิตงานร่วมกันเป็นทีม)

วัตถุประสงค์ พันธกิจ เป้าประสงค์

วัตถุประสงค์

1. เพื่อพัฒนา ปรับปรุงการจัดการเรียนการสอนให้เป็นแบบเน้นนักเรียนเป็นศูนย์กลาง (Child Centered)
2. เพื่อให้นักเรียนระดับปฐมวัยมีพัฒนาการทางด้านร่างกาย ความคิด สังคม อารมณ์ และจิตใจ เหมาะสมตามวัย
3. เพื่อให้นักเรียนระดับประถมศึกษามีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้น ทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้
4. เพื่อให้ครูมีความเชี่ยวชาญ มีเทคนิคและวิธีการสอนที่หลากหลาย สามารถตอบสนองความต้องการของนักเรียนได้เป็นรายบุคคล

พันธกิจ

1. จัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรภาคบังคับโดยเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (Child Centered)
2. จัดกิจกรรมเสริมสร้างให้นักเรียนเป็นคนดี มีคุณธรรม สามารถดำรงชีวิต
อยู่ในสังคมอย่างมีความสุขและเป็นผู้ใฝ่รู้ใฝ่เรียน
3. พัฒนาแหล่งปฏิบัติการศึกษา ค้นคว้า ทดลอง วิจัยทางการศึกษา
4. พัฒนาการบริหารงานอย่างเป็นระบบและครบวงจร
5. พัฒนาการบริการทางวิชาการแก่สังคม
6. พัฒนาการอนุรักษ์ ทำนุบำรุง ศิลปวัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม
7. ส่งเสริมความสัมพันธ์ และความร่วมมือกับชุมชนในการพัฒนาการศึกษา

เป้าประสงค์

1. โรงเรียนมีระบบการบริหารจัดการและบริการที่ทันสมัย โปร่งใส และได้มาตรฐานสากล
2. โรงเรียนมีสภาพแวดล้อมทางกายภาพที่ดี ปลอดภัย และเอื้อต่อการเรียนรู้ของนักเรียน
3. บุคลากรทุกระดับมีความรู้ความสามารถและปฏิบัติงานแบบมืออาชีพ
4. ผู้ปกครองและชุมชนมีส่วนร่วมที่เหมาะสม และพึงพอใจการดำเนินงานของโรงเรียน
5. โรงเรียนมีการจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรภาคบังคับ โดยเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (Child Centered) เพื่อพัฒนา ปลูกฝังให้นักเรียนมีคุณลักษณะดังนี้

5.1 เป็นผู้มีบุคลิกภาพที่ดี มีความเชื่อมั่น และมีความรู้สึกที่ดีต่อตนเองและผู้อื่น
5.2 เป็นผู้มีจิตใจดีงาม ฉลาดและรู้จักเลือกสรรสิ่งที่เกิดประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น รู้จักอดออม
5.3 เป็นผู้มีความคิดสร้างสรรค์ ใฝ่เรียนรู้ รักการทำงาน สามารถคิดเป็น ทำเป็นแก้ปัญหาเป็น
5.4 เป็นผู้มีวินัยดี มีความประพฤติเรียบร้อย สุภาพ ตามแบบและมารยาทของวัฒนธรรมของไทยและสากล
5.5 เป็นผู้ที่มีความรับผิดชอบ และรู้จักหน้าที่ของตน สามารถเป็นผู้นำและผู้ตามที่ดีตามวิถีทางแห่งประชาธิปไตย
5.6 เป็นผู้ที่มีมนุษยสัมพันธ์และสามารถปรับตัวได้ดีตามยุคสมัยและวิทยาการใหม่ ๆ สามารถสมานประโยชน์ทำงานร่วมกับกลุ่มหรือหมู่คณะได้ด้วยความสามัคคีและรู้จักการเสียสละ
5.7 เป็นผู้มีทักษะพื้นฐานที่ดีในการฟัง พูด อ่าน เขียน ทั้งภาษาไทย และภาษาอังกฤษ มีนิสัยรักการอ่าน
5.8 เป็นผู้รู้จักเหตุ รู้จักผล และสามารถคิดแก้ปัญหาได้อย่างเป็นระบบตามหลักกระบวนการคิดทางวิทยาศาสตร์
5.9 เป็นผู้รู้จักคุณค่า และเข้าใจพื้นฐานหลักพุทธศาสนา และสามารถนำมาประยุกต์ให้เกิดประโยชน์ และความสุขต่อตนเองและสังคม
5.10 ให้มีทัศนคติ และนิสัยในการอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณี ศิลปะ ธรรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชาติ