ศูนย์การศึกษาสำหรับเด็กพิเศษ

ศูนย์การศึกษาสำหรับเด็กพิเศษ จัดตั้งขึ้นเพื่อรับบำบัดและให้คำปรึกษาสำหรับผู้ปกครองของเด็ก พร้อมทั้งยังช่วยส่งเสิรมเรื่องการเรียนร่วมระหว่างเด็กที่มีความต้องการพิเศษกับเด็กปกติ ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นต้นแบบนำร่องให้กับโรงเรียนอื่น ๆ โดยเปิดสอนระดับประถมศึกษา นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 – 6

ศูนย์การศึกษาสำหรับเด็กพิเศษ จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ คือ

  เพื่อเป็นศูนย์กลางในการบำบัดเด็กที่มีความต้องการพิเศษ เพื่อเตรียมความพร้อมให้เด็กเหล่านี้สามารถเข้าสู่สังคมโรงเรียนได้ต่อไปในอนาคต

  เพื่อรองรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษเข้าเรียนร่วมกับเด็กปกติในรูปแบบต่าง ๆ โดยมีผู้เชียวชาญเฉพาะด้านให้คำปรึกษาและดูแลอย่างใกล้ชิด

  เพื่อผสานความเข้าใจระหว่างผู้ปกครองเด็กปกติและเด็กที่มีความต้องการพิเศษ อันจะส่งผลให้เกิดความร่วมมือ และลดปัญหาความขัดแย้งที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

  เพื่อให้เกิดการพัฒนาทางด้านบุคลากร เพื่อพัฒนาวิชาการความรู้อันจะนำไปใช้ในการดูแลทาง ด้านสุขภาพจิตและพฤติกรรมของทั้งเด็กปกติและเด็กพิเศษต่อไป

รูปแบบการจัดการศึกษา

โครงการศูนย์การศึกษาสำหรับเด็กพิเศษ

โรงเรียน ได้จัดตั้งโครงการศูนย์การศึกษาสำหรับ เด็กพิเศษ เพื่อจัดการศึกษาสำหรับนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษที่มีศักยภาพในการเรียนร่วมได้ในดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 การจัดการศึกษานั้น ได้เปิดโอกาสทางการศึกษาสำหรับนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษโดยเน้นระบบการศึกษาแบบเรียนร่วมในชั้นเรียนปกติ มีครูการศึกษาพิเศษคอยดูแลในชั้นเรียนตามศักยภาพของผู้เรียน และทั้งนี้ยังมีการจัดระบบการศึกษาสำหรับนักเรียนที่ไม่สามารถเรียนร่วมได้ในบางรายวิชา โดยให้เรียนในห้องเรียนเสริมวิชาการกับครูการศึกษาพิเศษ ซึ่งได้จัดเนื้อหาการเรียนตามหลักสูตรสถานศึกษา พร้อมทั้งให้สอดคล้องกับความแตกต่างระหว่างบุคคลทั้งนี้ได้มีการจัดรูปแบบของชั้นเรียน ดังนี้

ชั้นเตรียมความพร้อมเรียนร่วม หมายถึง การจัดการศึกษาให้นักเรียนในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมด้านต่าง ๆ ให้แก่นักเรียน เช่น ด้านวิชาการ การช่วยเหลือตนเอง ด้านทักษะทางสังคม ก่อนที่จะเข้าสู่ระบบการเรียนร่วมในชั้นเรียนปกติโดยครูการศึกษาพิเศษเป็นผู้สอนและมีการมีเรียนร่วมบางเวลาโดยครูการศึกษาพิเศษจะสอนคู่ขนานร่วมกับครูภาคปกติ เพื่อให้เด็กได้ฝึกทักษะการปฏิบัติและได้ฝึกทักษะทางสังคมจากการทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อ เช่น วิชาดนตรี ศิลปะ พลศึกษา คอมพิวเตอร์ เป็นต้น

ชั้นเรียนร่วมบางเวลา หมายถึง การจัดการศึกษาให้นักเรียนที่มีความต้องการพิเศษเรียนในชั้นเรียนปกติในบางรายวิชาโดยประเมินตามความสามารถของนักเรียนเป็นรายบุคคลจากครูการศึกษาพิเศษร่วมกับครูผู้สอนภาคปกติในแต่ละรายวิชา ซึ่งวิชาพื้นฐานที่นักเรียนจะได้เรียนร่วม คือ วิชาดนตรี ศิลปะ นาฏศิลป์ พลศึกษา การงานอาชีพ คอมพิวเตอร์ และร่วมกิจกรรมลูกเสือ-เนตรนารี หรือรายวิชาอื่น ๆ เพิ่มเติมตามศักยภาพของนักเรียน ซึ่งนักเรียนที่รับการจัดการศึกษาในลักษณะนี้ คือ มีความบกพร่องระดับปานกลางถึงระดับมาก จึงไม่อาจ เรียนร่วมเต็มเวลาได้ ทั้งนี้ในรายวิชาที่นักเรียนไม่สามารถเรียนร่วมได้ทางโครงการศูนย์การศึกษาพิเศษ ได้จัดการศึกษาในชั้นเรียนพิเศษโดยครูการศึกษาพิเศษเป็นผู้สอน ซึ่งมีเนื้อหาการเรียนสอดคล้องกับหลักสูตรสถานศึกษา

ชั้นเรียนร่วมเต็มเวลา หมายถึง การจัดให้นักเรียนที่มีความต้องการพิเศษ ได้เรียนชั้นเดียวกับเด็กปกติ ตลอดเวลาที่เด็กอยู่ในโรงเรียนรวมทั้งกิจกรรมนอกโรงเรียน โดยมีครูการศึกษาพิเศษสอนคู่ขนานในชั้นเรียนเรียนร่วม เป็นการจัดการศึกษาสำหรับนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษ ที่มีความสามามารถในการเรียนรู้และมีความพร้อมทางวุฒิภาวะทางอารมณ์และสังคม